รู้กฎหมาย : การครอบครองอาวุธปืน

อาวุธปืน หมายถึงเครื่องมือที่ใช้ยิง ไปทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้ ปีนที่ไม่อาจทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้โดยสภาพ เช่น ปืนเด็กเล่น ไม่ใช่อาวุธปืนตามความหมายของกฎหมาย ตามกฎหมายเรียกว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ถ้ามีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็มีความผิดเช่นกัน ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามกฎหมายให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย เช่น

  • ลำกล้อง
  • เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
  • เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
  • เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของ สิ่งเหล่านี้ แต่พานท้ายปืน สายสะพาย ไม้ประดับด้ามปืน ไม่ใช่อาวุธปืน

การขออนุญาต ประชาชนจะมีและใช้อาวุธปืนต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน สำหรับ คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ยื่นคำร้องขอที่กองทะเบียน สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องขอต่อนายอำเภอท้องที่ การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องขอเพื่อ
– ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินของตน
– สำหรับใช้ในการกีฬาหรือล่าสัตว์

ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน การกระทำผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเหล่านี้ ได้แก่

  • ทำ โดยมิได้รับอนุญาต
  • ซื้อ โดยมิได้รับอนุญาต
  • มี โดยมิได้รับอนุญาต
  • ใช้ โดยมิได้รับอนุญาต
  • สั่ง เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต
  • นำ เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต

การมีปืนไว้ในครอบครองได้  ผู้ครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการโดยการจดทะเบียนอาวุธปืนที่ว่าการอำเภอ  มิเช่นนั้นผู้ครอบครองจะครอบครองอาวุธปืนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปีและปรับ 2,000 ถึง 20,000 บาท  หากเป็นการครอบครองปืนของผู้อื่นที่มีทะเบียน  มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปีและปรับ 1,000 ถึง 10,000 บาท

สำหรับการพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ  แม้จะเป็นปืนมีทะเบียนก็ตาม  ผู้พกพาปืนก็ต้องมีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนด้วย  และแม้จะมีใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนแล้วก็ตาม  ก็ห้ามพกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย  หรือพกพาไปในที่ชุมนุมชน ที่จัดงานมหรสพ เทศกาลรื่นเริง หรือที่อื่นใดในทำนองเดียวกับที่กล่าวมา  เว้นแต่จะเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ หรือประชาชนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานรักษาความสงบเรียบร้อย  หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ