“แต่ละวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบริบทที่ต่างกันไป และมีการการหนุนเสริมตามทุนที่เรามีอยู่ คือศิษย์เก่าที่มีศักยภาพทั้งในความเป็นนักวิชาการและในวิชาชีพของเขาเหล่านั้น เป็นทุนที่ดีของพื้นที่ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายไปที่การ “ลดจน” ทั้งด้านเศรษฐกิจและศึกษา การ “ลดเจ็บ” คือการดูแลสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบในเชิงกว้าง การ “เพิ่มสุขและสันติภาพ” และการ “เพิ่มศักยภาพของพื้นที่” ’ในมิติของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการต่างๆ ต้องทำให้เกิดขึ้นในเชิงประจักษ์จึงจะได้รับการยอมรับจากพื้นที่ ทุกคณะทุกหน่วยงานจึงต้องมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อทำให้สำเร็จ”
ในความเป็นวิทยาเขตของสถาบันเดียวกันคือ “สงขลานครินทร์” จะมีทั้งความเหมือนกัน และความต่างกัน ในฐานะของหน่วยงานที่มีเป้าหมายเดียวกันแต่ด้วยพื้นที่ที่ต่างกันทำให้วิธีการและการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ต่างกันด้วย
สำหรับพื้นที่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาเขตปัตตานีได้ใช้ความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา และองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่เพื่อไปพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน เช่น การถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การประกอบอาชีพ อาหารฮาลาล มีการนำผลการวิจัยไปสู่การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เช่น ด้านเทคโนโลยียาง การเพาะเลี้ยงปูทะเลแบบครบวงจร การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่จังหวัดปัตตานีและพื้นที่บางส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะต้องมีการสื่อเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เพื่อความขัดแย้งและความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยความคิด ความต้องการ ความเข้าใจ และความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ตอนบน วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มุ่งการเรียนการสอนโดยเน้นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และมุ่งพัฒนาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศในระดับชาติและนานาชาติ และมีการดูแลการศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษาคือ โรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์สุราษฎร์ธานี ที่เป็นที่ยอมรับของชุมชน หลายปีที่ผ่านมา วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีได้มีการเชื่อมโยงกับทุกวิทยาเขตและหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนด้านเทคโนโลยียาง การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการด้านการเกษตรและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำฟาร์มที่ใช้เทคโนโลยีในการจัดการควบคุมระบบน้ำ ความสมบูรณ์ของดิน ซึ่งในอนาคตเกษตรกรจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมของตนได้
วิทยาเขตตรัง แม้เป็นวิทยาเขตเล็กอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน แต่ เป็นวิทยาเขตที่มีความสร้างสรรค์ และมุ่งต้องการพัฒนาคนในสังคมท้องถิ่นให้มีชีวิตที่ดีและเป็นสังคมที่ยั่งยืน โดยมีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ มีความพร้อมด้านสถานที่ มีโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมโดยพยายามสร้างสังคมให้เข้มแข็งคือ “โครงการย่านตาขาวโมเดล” มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น มีการเข้าถึงเข้าหาชุมชนเพื่อหาทางช่วยให้ดีขึ้น และตามด้วยการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนและนำไปต่อยอดได้ นอกจากนั้นยังมีการ สร้างศูนย์นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมสูงวัย โดยพยายามออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อชุมชนสังคมสูงวัยและคนพิการโดยความร่วมมือ เรียนรู้และพัฒนาของ 5 มหาวิทยาลัย และต่อยอดไปยังสถานที่ทางศาสนา เช่น การออกแบบอาคารพักฟื้นสำหรับพระสงฆ์ที่เป็นโครงการที่จับต้องได้และดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน