คุณโสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แถลง ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ปี 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์เพจเฟซบุ๊ก “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ว่าเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 3 ได้รับกระทบรุนแรงจากโควิด-19 หลายภาคเศรษฐกิจหดตัว
ภาคการท่องเที่ยว หดตัวลง เนื่องจากผลจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ และการยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศ หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นบ้าง ผลจาก Phuket Sandbox และ Samui Sandbox
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวลง เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อค่อนข้างอ่อนแอลง แม้ว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการมาเพื่อพยุงกำลังซื้อ แต่ก็พยุงได้แค่บางส่วนเท่านั้น
รายได้จากภาคเกษตรกร ขยายตัวชะลอลงลง ด้วยเหตุผลในเรื่องของตัวราคา โดยเฉพาะราคายางพารา สาเหตุมาจากโรงงานเริ่มชะลอรับซื้อวัตถุดิบ หลังจากที่โรงงานถุงมือยางในประเทศมาเลเซียได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทั้งนี้ราคาปาล์มน้ำมันขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการในการใช้น้ำมันปาล์ม ประกอบกับประเทศมาเลเซียเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ยังไม่สามารถผลิตปาล์มออกมาได้อย่างเต็มที่และขาดแรงงานในการตัดปาล์ม
การลงทุนภาคเอกชน ชะลอลง มีการปรับลดลงเกือบทุกหมวด แต่ขณะที่มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้และน้ำมันปาล์มดิบมีการขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีการสนับสนุนค่าบริหารจัดการในการส่งออก เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อมีการส่งออกได้มากขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐ ชะลอลงโดยมีสาเหตุมาจากการเบิกจ่ายรวมของภาครัฐ โดยเฉพาะในหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่าย จาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ล่าช้า
มูลค่าการส่งออกสินค้า ชะลอลงจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวมากขึ้นจากหมวดแปรรูปยาง ไม้ยาง และอาหารทะเล ตามความต้องการคู่ค้าที่มีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานส่งผลให้ทำการผลิตได้ไม่เต็มที่ในหลายอุตสาหกรรม
เสถียรภาพเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงร้อยละ 1.43% เนื่องจากผลของฐานราคาพลังงานที่ต่ำาในปีก่อนทยอยหมดลง มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ และราคาอาหารสดลดลง ส่วนด้านตลาดแรงงาน ยังคงเปราะบางและน่ากังวล มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนมีการจ้างงานเท่าที่จำเป็น
ภาคการเงิน ณ ไตรมาสที่ 3 ปี เงินฝากมีการขยายตัว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีการจ่ายเงินประกันสังคมเข้ามาเยียวยาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือเข้มงวด จึงมีผลทำให้เงินฝากที่การขยับตัวมากขึ้น ส่วนสินเชื่อยังคงชะลอลงอยู่
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและกระจายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือการควบคุมการระบาดหลังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ