“ฟื้นฟูต่อเติม เพื่อเติบโต” ทีดีอาร์ไอ เสนอแนวคิดแก้ประเทศเติบโตช้า แนะทางรักษาแผลเป็นเศรษฐกิจ จาก โควิด-19

งานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2564 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” วันอังคาร ที่ 2 , 9 และ 16 พฤศจิกายน 2564 เวทีประชุม Virtual Conference ที่รวมนักวิชาการ-นักวิจัยทีดีอาร์ไอและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ร่วมมองอนาคตประเทศหลังโควิด-19 เสนอแนวคิดใหม่ในสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแนะฟื้นคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนาทักษะใหม่ให้กำลังคน พร้อมให้ประชาชนมีสวัสดิการพื้นฐานที่ดี และถึงเวลาที่ภาครัฐปรับบทบาททันโลกหลังโควิด เข้าใจความต้องการประชาชนเพื่อตอบสนองได้ดีขึ้น 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดประเด็นสัมมนาในวันแรก ด้วยการนำเสนอ  โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19: ฟื้นฟูและต่อเติมเพื่อเติบโต ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องทบทวนโมเดลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่พอเพียงต่อการรักษาการเจริญเติบโตให้ทันกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และมีแนวโน้มติดกับดักรายได้ปานกลางไปอีกนาน จึงได้เสนอแนวคิด การ “ฟื้นฟู” และ “ต่อเติม”  ที่หมายถึงการ “ฟื้นฟู” คนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิม พร้อม“ต่อเติม” ด้วยการยกระดับผลิตภาพในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาครัฐ 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ในช่วงเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมาหลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19  ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชน ธุรกิจ และรัฐอ่อนแอลงอย่างมาก โมเดลในการพัฒนาประเทศแบบเดิมน่าจะไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจาก “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กล้มละลาย คนว่างงานตลอดจนนักเรียนขาดความรู้และทักษะ ทำให้ “คน”และ “ทุนขนาดเล็ก” ในฐานะ “ปัจจัยการผลิต” อ่อนแอลงมาก เมื่อมองไปในอนาคต พบว่า หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้น แต่มีแนวโน้มที่เติบโตช้าลงในระยะยาว โดยอัตราการเติบโตอาจลดลงจนเหลือระดับประมาณร้อยละ 2.6 ต่อปี ในปีค.ศ. 2036-2040 จากการที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงอายุ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้นสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเน้นการลงทุน และการเพิ่มจำนวนแรงงานเข้าสู่ตลาด ตลอดจนสร้าง “ผลิตภาพโดยรวม” ซึ่งหมายถึงการสร้างผลผลิตมากขึ้นโดยใช้ทุนและแรงงานเท่าเดิม โดยมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวมไม่ถึงร้อยละ 2 ต่อปี  และแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวมขึ้นได้อีกร้อยละ 0.5 ต่อปี  อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังจะไม่สูงพอที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” (middle-income trap) ได้ในเวลา 20 ปี ซึ่งหมายความว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มที่ เราจะไม่มีทรัพยากรมากพอสำหรับเงินบำนาญและสวัสดิการการรักษาพยาบาล ซึ่งจะทำให้คนไทยจำนวนมากเดือดร้อนมาก

ประเทศไทยจึงต้องมีจินตนาการใหม่ในการสร้างโมเดลในการพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการ “ฟื้นฟู” และ “ต่อเติม”  ซึ่งหมายถึงการ “ฟื้นฟู” คนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิม และ “ต่อเติม” ด้วยการยกระดับผลิตภาพในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาครัฐ

การ ฟื้นฟู คนและสิ่งแวดล้อม คือ ลดความสูญเสียชีวิต สุขภาพและเวลาของประชาชน เพราะคนไทยสูญเสียชีวิต สุขภาพและเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก เช่น ป่วยเป็นโรคจาก  PM 2.5 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึงปีละ 3 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกปีละประมาณ 2 หมื่นคน ทำให้คนไทยทั้งประเทศสูญเวลาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อและอุบัติเหตุรวมกันสูงถึงกว่า 4 ล้านปีในแต่ละปี  

นอกจากนี้คนไทยยังสูญเสียเวลาจากกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพจากการถูกเกณฑ์ทหาร โดยชายไทยอายุ 21-22 ปีถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารปีละเกือบ 1 แสนคน  ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียจากการไม่ได้ทำงานและเรียนรู้ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแท้จริง

การฟื้นฟูเริ่มได้จากการลดความสูญเสียเสียชีวิต สุขภาพและเวลาในการทำงาน หากประเทศไทยสามารถลดการสูญเสียชีวิต สุขภาพและเวลาในการทำงานได้ จากการลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุลงร้อยละ 50 ใน 5 ปี ลดการสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อลงร้อยละ 25 ใน 10 ปี ซึ่งเป็นเป้าที่ประเทศไทยตั้งไว้อยู่แล้ว และลดการเกณฑ์ทหารลงร้อยละ 50 โดยทันที ก็จะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยขึ้นได้อีกร้อยละ 0.62 ต่อปีเมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี

การฟื้นฟูยังรวมถึงการเพิ่มคุณภาพประชากร ซึ่งเริ่มได้จากการดูแลให้มีเด็กตกหล่นในระบบการศึกษาลดลง การยกระดับคุณภาพในการดูแลเด็กเล็กและคุณภาพการศึกษาโดยรวม  หากประเทศไทยสามารถลดจำนวนเด็กตกหล่นและยกระดับทักษะตั้งแต่เด็กปฐมวัยไปจนถึงนักเรียนในระบบการศึกษาพื้นฐานพร้อมเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้ ก็จะสามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันได้อีกเฉลี่ยร้อยละ 0.21 ต่อปีไปตลอด 20 ปี โดยผลในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตจะเห็นชัดในช่วงท้าย เพราะการพัฒนาทักษะของคนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา

สำหรับการ “ต่อเติม คือการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพประเทศในแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น  การเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิตสามารถทำได้โดยการลดความสูญเสียต่าง ๆ ด้วยการผลิตแบบ “ลีน” (lean production) ควบคู่กับภาครัฐลงทุนในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก หากประเทศไทยสามารถยกระดับผลิตภาพรวมให้สูงกว่าระดับในปัจจุบันได้อีกร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตเฉลี่ยขึ้นอีกร้อยละ 0.91 ต่อปีตลอดระยะเวลา 20 ปีหน้า

การต่อเติมยังรวมถึงการเร่งปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งมีความล่าช้ามานาน ทำให้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งไม่สามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย ซึ่งสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ภาคธุรกิจและประชาชน โดยแนวทางในการปฏิรูปภาครัฐอย่างน้อยควรประกอบไปด้วยการปรับภาครัฐไปสู่รัฐบาลดิจิทัล (digital government) และการปฏิรูปกฎระเบียบที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชนด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “การกิโยตินกฎระเบียบ” (regulatory guillotine) 

หากรัฐบาลดำเนินการกิโยตินกฎระเบียบในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตหรืออนุมัติ 198 เรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับ 1,094 กระบวนงาน  โดยแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัยร้อยละ 43 และเลิกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาและไม่มีประโยชน์ร้อยละ 39 ก็จะสามารถลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและประชาชนได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 0.8% ของ GDP  โดยแทบไม่ต้องลงทุนในรูปตัวเงินเลย นอกจากนี้การให้บริการรัฐบาลดิจิทัลและการกิโยตินกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉลี่ยขึ้นได้อีกร้อยละ 0.25 ต่อปีเมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในปัจจุบันไปตลอด 20 ปี

โดย สรุปแม้ประเทศไทยบอบช้ำจากวิกฤตการณ์โควิด-19 และกำลังจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงจากการกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว  แต่ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสในการฟื้นฟูและต่อยอดการพัฒนาจากการดำเนินการปฏิรูปใน 4 แนวทางคือ การลดความสูญเสียด้านชีวิต สุขภาพและเวลาของประชาชน การยกระดับทักษะของประชาชน การลงทุนและยกระดับผลิตภาพ และการปฏิรูปภาครัฐโดยปรับไปสู่รัฐบาลดิจิทัลและการทำกิโยตินกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง โดยหากดำเนินการดังกล่าว ประเทศไทยก็จะสามารถเติบโตได้ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มที่เป็นอยู่ได้อีกร้อยละ2 ต่อปีไปอีกตลอด 20 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ในระยะเวลาดังกล่าว

ขอบคุณข้อมูล : tdri.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *