ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ หลายพื้นที่ในภาคใต้มีระดับคุณภาพอากาศ และ ค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ซึ่งกำหนดค่าฝุ่น PM2.5 รายวันในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า PM2.5 รายปี ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir ระบุค่า PM2.5 เฉลี่ยรายวันในพื้นที่หาดใหญ่ตั้งแต่ 1 มี.ค. จนถึง วันนี้ (14 มี.ค.) พบว่ามีจำนวน 5 วันที่ค่า PM2.5 ต่ำกว่า 15 และจาก 3 ใน 5 วันนั้นมีค่า PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 14 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ข้อสังเกตว่าค่า PM2.5 ในพื้นที่หาดใหญ่จะสูงในช่วงเช้า เช่น ในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 08:00 มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 36.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่า PM2.5 จะมีปริมาณสะสมในแต่ละช่วงเวลาของวันแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งมลพิษและการระบายตัวของสภาพอากาศ
ศ.ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการสถานวิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘แลบ้านแลเมือง’ สถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่ ถึงปัจจัยการสะสมตัวของฝุ่น PM2.5 และสถานการณ์ที่ชวนจับตาในปี 2567 นี้
ศ.ดร.พีระพงศ์ ชี้ว่าแม้ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะมีปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศ แต่พื้นที่ภาคใต้เช่นหาดใหญ่จะมีบางวันและบางช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศไม่ดี
ศ.ดร. พีระพงศ์ กล่าวถึงที่มาของฝุ่น PM2.5 ว่าแหล่งกำเนิดสำคัญเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ เช่น การสันดาปของเครื่องยนต์ การเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะ หรือ การเผาด้วยปัจจัยทางการเกษตร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งในพื้นที่แหล่งกำเนิดมลพิษ และ ฝุ่นจากนอกพื้นที่ซึ่งพัดมาด้วยลม
การสะสมของฝุ่นในพื้นที่จะขึ้นอยู่กับอัตราการระบายของอากาศทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง หากสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นมีอัตราการระบายดี จะไม่เกิดการสะสมตัวของมลพิษในพื้นที่
ศ.ดร. พีระพงศ์ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึง ปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ประเทศไทยและแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอากาศร้อนและแห้งแล้งกว่าปกติ ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ป่าพรุควนเคร็ง รวมถึงไฟป่าในภูมิภาค เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในพื้นที่ได้
ทั้งนี้ การได้รับฝุ่น PM2.5 บ่อยและเป็นเวลานาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และ PM2.5 ยังเป็นสารก่อมะเร็งปอดและกระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของมะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรในประเทศไทย
ผศ.พญ. ปัญญ์ชลี แก่นเมือง แพทย์ประจำหน่วยโรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. แนะนำวิธีการป้องกัน PM2.5 ว่าควรติดตามข่าวสารและค่าฝุ่นในแอพพลิเคชัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมพื้นที่โล่งแจ้งในช่วงเวลาที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
อ่านต่อ
“หนอนแมลงวันลาย” เปลี่ยน “ขยะอินทรีย์” สร้างรายได้ให้เกษตรกร
PSU Broadcast – ปัญหาขยะทะเลและอันตรายจากไมโครพลาสติก
BuddyNews – “ขยะ” ฝีมือมนุษย์ สุดวิกฤตมากขึ้นทุกปี