หนึ่งในเมนูขึ้นโต๊ะอาหารเลี้ยงนายกรัฐมตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะ ในโอกาสปฏิบัติภารกิจ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา คือเมนูปลานิลเลี้ยงในน้ำไหลและปลาเวียนชมพูหรือปลาพลวงชมพูหรือ “ปลากือเลาะห์” เนื่องจากเป็นวัตถุดิบอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านรสชาติและที่มาเบื้องหลังอันน่าสนใจ
สำหรับปลานิลซึ่งเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่คนไทยรู้จักกันดีนั้น ความพิเศษของที่เบตงคือการเลี้ยงในน้ำไหลที่ช่วยลดกลิ่นโคลนแบบปลาสระและมีคุณภาพเนื้อที่เป็นอัตลักษณ์จากการได้ว่ายน้ำไหลอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับ “ปลากือเลาะห์” อาจเป็นชื่อที่น้อยคนนอกพื้นที่จะรู้จัก และด้วยโอกาสด้านมูลค่าที่น่าสนใจ ‘สถานีวิทยุ ม.อ.’ จึงขอนำรายละเอียดของปลาชนิดนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจิดยะลาระบุว่า “ปลาพลวงชมพู” หรือชื่อภาษามลายูท้องถิ่น ”ปลากือเลาะห์” อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน โดดเด่นที่สีของเกล็ดออกชมพู บริเวณครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำที่น้ำไหลผ่าน ค่อนข้างเย็นและปริมาณออกซิเจนสูง เช่น น้ำตก หรือต้นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี หรือเขตป่าฮาลา-บาลา
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยฯ ยะลา ระบุว่าในปี พ.ศ.2524 ปลาพลวงชมพูอยู่ใน ‘สภาวะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN)’ เนื่องจากการสร้างเขื่อนบางลาง ในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาทำให้สูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของปลา ต่อมามีการรวบรวมพันธุ์ปลาจากคลองฮาลา-บาลา เพื่อเพาะขยายพันธุ์ แต่ยังเพาะพันธุ์ได้น้อยมาก
กระทั่งปี พ.ศ.2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและทรงปล่อยพันธุ์ปลาพลวงชมพูลงเขื่อนบางลาง อีกทั้งทรงมีพระราชดำริให้นำปลาพลวงชมพูมาเลี้ยงไว้ในฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนกระทั่งสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้มากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพาะขยายพันธุ์ปลาได้น้อยเพราะปลาให้ไข่น้อยแค่ครั้งละ 500-1,000 ฟองต่างจากปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกันที่ให้ปริมาณไข่เป็นแสนฟอง และตกไข่หรือไข่สุกไม่พร้อมกัน อีกทั้งระยะเวลาการเลี้ยงถึง 3 ปี ต้องเลี้ยงในระบบน้ำไหลตลอดเวลา และน้ำต้องมีปริมาณออกซิเจนสูง
น้ำหนักของปลาพลวงชมพูที่ตลาดต้องการ อยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ถ้าขนาดใหญ่จะขายได้ราคาดี ราคาขายปลาพลวงชมพูขนาดตัวประมาณ 1 กิโลกรัมจะขายที่กิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท ถ้าขนาดตัวละ 2-3 กิโลกรัม ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 4,000-5,000 บาท
ในสถานะปลาสวยงาม ปลากือเลาะห์นับว่าสวยงามตามธรรมชาติทั้งรูปร่าง ลวดลายจากเกล็ดและสี หากเลี้ยงให้ได้เนื้อและระยะที่คุณภาพเหมาะสม ปลาพลวงชมพูก็คือปลารสชาติดี เนื้อขาวนุ่ม ไม่ว่าจะทำให้สุกด้วยวิธีนึ่ง ต้ม อบหรือทอด โดยใช้เวลาพอดีกับที่ส่วนเนื้อสุกดี เกล็ดปลาที่ดูแข็งแรงขณะยังดิบ กลับแปรสภาพเป็นเกล็ดนุ่มชนิดที่ย่ำเคี้ยวเพียงไม่กี่ครั้งก็ละลายกลืนเข้ากับเนื้อนุ่มโดยไม่มีระคายคอ กลายเป็นคอลลาเจนธรรมชาติที่เพิ่มทั้งคุณค่าทางอาหารและรสชาติให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างน่าทึ่ง จึงนับว่าเป็นปลาสายพันธุ์พิเศษที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรร่วมกับแนวทางการพัฒนาเกษตรแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตไม่น้อย
เนื่องจากปลากือเลาะห์เป็นปลาที่เติบโตได้ดีในกระแสน้ำไหลตามธรรมชาติแบบป่าต้นน้ำลำธารแท้ ๆ นั่นหมายถึงว่าหากต้องการควบคุมต้นทุนการผลิต ชุมชนอาจสามารถร่วมกันออกแบบการเลี้ยงปลาตามแหล่งน้ำธรรมชาติในชุมชนด้วยการดูแลป่าและสภาพสิ่งแวดล้อม ลดเลิกการใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากจะทำให้ได้เนื้อปลาจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจนทำให้สามารถกำหนดราคาขายที่เหมาะสมได้แล้ว ยังอาจเป็นกลไกที่ผลักดันให้ชุมชนย้อนกลับสู่วิถีอนุรักษ์สายน้ำ ผืนป่าและธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย
แหล่งข้อมูลประกอบบทความ
สัมภาษณ์ คุณณัชชาพัชร์ ศศิโชควัชรสกุล – นักวิชาการประมง (ชำนาญการ) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
อ่านต่อ
ไข่ผำ จากวัตถุดิบอาหารพื้นบ้านสู่ Superfood ของโลกกับฉายา กรีนคาเวียร์
“ใบกะเพรา” ปรุงอาหารก็อร่อย ปรุงเป็นยาก็เลิศ
ต่อยอดนวัตกรรมจากยางพารา สู่ผลิตภัณฑ์ “รองเท้าโคนมเพื่อสุขภาพ”