โปรตีนเพื่อสุขภาพจากหางกะทิเหลือทิ้ง จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์บนท้องตลาด

‘สภากาแฟ’ ชวนรู้จัก งานวิจัยสกัดโปรตีนจากหางกะทิเหลือทิ้งเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนเพื่อสุขภาพ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ฉวีวรรณ จั่นสกุล คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

ดร.ฉวีวรรณ เล่าว่าจุดเริ่มต้นของงานวิจัยชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากการสั่งสมความรู้ของตนเองที่เคยสัมผัส การทำงานและงานวิจัยด้านชีววิทยา เภสัชวิทยา และสรีระวิทยา ทั้งในบทบาทนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในรั้วมหาวิทยาลัย  

พร้อมทั้งตนสนใจแนวคิดการดูแลสุขภาพ เห็นความสำคัญของการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อลดการเกิดโรค จึงเริ่มต้นศึกษาคุณค่าสารอาหารในสมุนไพรและวัตถุดิบประกอบอาหาร

ดร.ฉวีวรรณเล่าว่าตนเริ่มต้นศึกษาการสกัดโปรตีนจากกะทิในช่วงปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แนวคิดด้านสุขภาพมองว่าน้ำกะทิซึ่งเป็นที่นิยมในการใช้ประกอบอาหาร มักเชื่อมโยงกับไขมันและสาเหตุของโรคอ้วน ตนจึงต้องการพิสูจน์และทดสอบคุณค่าสารอาหารภายในกะทิ จากวิธีสกัดเป็นผงด้วยวิธีการแช่เยือกแข็ง (freeze dry) 

“เราใช้หนูวัยกลางชีวิตเพื่อศึกษา เหมือนกับวัยกลางคนที่กำลังเข้าสู่ความเสื่อมตามช่วงอายุจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงชัด เราให้กินผงโปรตีนเข้าไป

“ผ่านไป 6 สัปดาห์ ผลปรากฎว่าในลำไส้ไม่มีโพรงไขมัน ไม่มีไขมันในช่องท้อง หลอดเลือดดี แต่ไขมันส่วนหน้าท้องไม่ยุบ” ดร.ฉวีวรรณกล่าวถึงผงโปรตีนกะทิที่ประกอบด้วยทั้ังไขมันและโปรตีน จึงต้องการแยกส่วนเฉพาะโปรตีนจากกะทิมาศึกษาต่อ และพบว่ามีผลให้หนูทดลอง ไขมันส่วนหน้าท้องยุบลง 

ดร.ฉวีวรรณเล่าต่อว่า หลังจากทดสอบโปรตีนในกะทิแล้ว จึงสังเกตว่าในอุตสาหกรรมการทำน้ำกะทินั้น มักทิ้งส่วนที่หางกะทิซึ่งมีโปรตีนสูง และเก็บหัวกะทิซึ่งมีไขมันสูงเอาไว้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์บนท้องตลาดต่อ ตนจึงต้องการนำส่วนหางกะทิมาพัฒนาต่อเป็นผงโปรตีนเพื่อสุขภาพ 

“เมื่อคำนวณมูลค่าในหนึ่งวัน ถ้าคั้นน้ำกะทิ 4.8 ตัน เพื่อนำหัวกะทิไปใช้ต่อ เขาทิ้งมูลค่าในส่วนหางกะทิไปประมาณ 4-5 แสนบาท ยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่ต้องบำบัดน้ำเสีย เราจึงไปนำหางกะทิก่อนที่จะทิ้งส่วนนี้มาทำเป็นโปรตีน”

อย่างไรก็ตาม ดร.ฉวีวรรณกล่าวว่าค่าใช้จ่ายหลักในการเปลี่ยนโปรตีนเปียกในหางกะทิ เป็นผงแห้ง อยู่ที่ขั้นตอนการแช่เยือกแข็ง ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ราว 9 หมื่นบาทต่อโปรตีน 1.2 ตัน

“เราไม่ผ่านอุณหภูมิสูง สิ่งที่ได้จะเป็นผงจริงๆ ของมะพร้าวที่มียังคงรสชาติและความหอม” ดร.ฉวีวรรณกล่าว

ดร.ฉวีวรรณเผยว่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากกะทิได้รับการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา และอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัทเอกชนและนำสินค้าสู่ท้องตลาดต่อไป 

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: บัญชร วิเชียรศรี 

อ่านต่อ

เล่าขานงานวิจัย – ผลิตภัณฑ์โปรตีนมะพร้าวผง
ม.อ. ตั้งบริษัท PSU Holding ช่องทางร่วมทุนเอกชน ต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *