ปลาหมอคางดำ: ระบาดนครศรีธรรมราช ลามจ.สงขลา เร่งกำจัดกันลุกลาม

ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น (alien species) ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ จากลักษณะดุร้าย กินสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นอาหาร และการขยายพันธุ์ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม พบการระบาดใน อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งมีเส้นทางน้ำเชื่อมกับ จ.นครศรีธรรมราชที่มีการระบาดราว 1 ปีที่ผ่านมา

ประมงสงขลาแจงลักษณะภายนอกคล้ายคลึงปลานิลหรือปลาหมอเทศ เพศผู้มีสีดำบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย

ความคืบหน้าสถานการณ์ปลาหมอคางดำระบาดภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ลามพื้นที่จ.สงขลา เล็งสกัดกันกระจายพื้นที่อื่น เร่งลดปริมาณ กระตุ้นการบริโภค 

คุณไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตร พื้นที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’ เมื่อ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ปลาหมอคางดำระบาดในจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ จี้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณแก้ไขปัญหา

สถานการณ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช

คุณไพโรจน์เผยว่าการระบาดในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นปัญหาสำคัญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และช่วงแรกชาวบ้านและเกษตรกรมักสับสนปลาหมอคางดำ กับปลานิลหรือปลาหมอเทศ ซึ่งมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน แต่ปลาหมอคางดำมีแก้มและคางสีดำ

ปลาหมอคางดำเป็นสัตว์ต่างถิ่น (alien species) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา มีลักษณะดุร้าย ทนต่อสภาพแวดล้อมหลากหลาย ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และขยายพันธุ์ได้เร็ว และมักกินสัตว์น้ำวัยอ่อน เริ่มเป็นปัญหาในประเทศไทยราว พ.ศ. 2553-2555 เป็นต้นมา หลังบริษัทเอกชนด้านอาหารขนาดใหญ่นำเข้าเพื่อทำการทดลอง 

ก่อนเป็นปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดการลุกลามจนเกิดผลกระทบต่อเกษตรกรท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ก่อนลุกลามผ่านเส้นทางน้ำลงมาพื้นที่ภาคใต้

“จากพื้นที่และปริมาณปลาหมอคางดำอยู่ เราทอดแหขึ้นมาสุ่มตัวอย่าง บางพื้นที่คูน้ำกว้าง 4 เมตร ยาว 100 เมตร จะลอยขึ้นมาเป็นแพนผิวน้ำ ช่วงเช้าและเย็นปลาต้องการอากาศเลยทำให้สังเกตเห็นได้เต็มคูน้ำ” 

“ตอนนี้ในพื้นที่ตั้งแต่ ต.หน้าสตน ต.รามแก้ว ในอ.หัวไทร และ ต.ขนาบนาก ต.ปากแพรก ต.ท่าศาลา ต.บางพระ ต.บ้านเพิง ในอ.ปากพนัง เต็มไปด้วยปลาหมอคางดำหมดแล้ว ” สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมาราชกล่าวถึงสถานการณ์ของปัญหาพร้อมกล่าวว่าในส่วนพื้นที่ ต.รามแก้ว ซึ่งติดกับอ.ระโนด จ.สงขลา เริ่มมีการระบาดและแพร่ไปยังจ.สงขลาแล้ว

สถานการณ์ในจังหวัดสงขลา

คุณเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานประมง ให้สัมภาษณ์ในรายการแลบ้าน แลเมือง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ต่อเนื่องในประเด็นนี้ว่า ขณะนี้เกิดการระบาดในพื้นที่อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งมีพื้นที่ติดกับจ.นครศรีธรรมราช 

อย่างไรก็ตาม คุณเจริญเผยว่าสถานการณ์การระบาดยังไม่หนักเท่ากับจ.นครศรีธรรมราช หรือพื้นที่ภาคกลาง อย่างไรก็ตามตนชี้ว่าประชาชนควร “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” ต่อสถานการณ์ 

แนวทางแก้ไขปัญหา

ในส่วนของจ.นครศรีธรรมราช คุณไพโรจน์ในฐานะสมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราชเผยว่า ในเบื้องต้น มีการปล่อยปลากระพงไล่ล่าเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เพื่อเยีวยาปัญหาในเบื้องต้น จังหวัดได้มีการตั้งคณะทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมการแก้ไขปัญหา 

อย่างไรก็ตาม คุณไพโรจน์แจงว่าหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่มีงบประมาณไม่เพียงพอแก้ไขปัญหา  พร้อมชี้ว่าตนได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอแก้ไขปัญหา

นอกจากนั้นยังมีการร่วมกันขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์อันตรายของปลาหมอคางดำ และสนับสนุนให้มีการรับซื้อขายเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์หรือแปรรูปเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำ

ในส่วนจ.สงขลา ประมงจังหวัดสงขลาแจงว่ามี 2 มาตรการเพื่อป้องกันการลุกลามไปสู่พื้นที่อื่นได้แก่ ปล่อยปลากระพงขาวเพื่อกินลูกปลาหมอคางดำ และส่งเสริมการจับเพื่อบริโภคปลาหมอคางดำเพื่อลดการขยายพันธุ์ และมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอภิชาติ สาราบรรณ์ เป็นประธาน 

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567

มาตรการจังหวัดสงขลา

สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ออก “ประกาศจับ” ปลาหมอคางดำ เชิญชวนแจ้งพิกัด-สถานที่พบ หลังพบการระบาดในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ได้ที่ แบบฟอร์มแจ้งพิกัดปลาหมอคางดำ

มาตรการจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับองค์กรเกษตรเขตลุ่มน้ำปากพนัง เตรียมมาตรการรับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แข่งขันล่าปลาหมอคางดำ และเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ณ อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพ: Facebook – ไพโรจน์ รัตนรัตน์

อ่านต่อ

‘ปลากือเลาะห์’ จากใกล้สูญพันธุ์สู่ สายพันธุ์สร้างมูลค่าชายแดนใต้ อุดมคุณประโยชน์

พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะพงขาวทะเลสาบสงขลารมควัน ต่อยอดแนวคิดการแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกะชัง

วิกฤต ‘หญ้าทะเล’ หายผืนใหญ่ ขาดแหล่งอาหาร-อนุบาลสัตว์ กักคาร์บอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *