“นั่งรถไควไปฟินปาดัง” การเดินค้นหาคุณค่าและความหมายของปาดังเบซาร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง

เสียงล้อเหล็กที่กระทบราง กลิ่นธรรมชาติ และสายลมที่พัดผ่าน สิ่งนี้อยู่ไม่ห่างจากเมืองหาดใหญ่ ใช้เวลาไม่มากในการเดินทาง วันนี้หรอย local by PSU Broadcast ชวนไปสัมผัส “นั่งรถไควไปฟินปาดัง” กับทีม Voice of Padang besar การเดินค้นหาคุณค่าและความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองปาดังเบซาร์ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง


7.15 น. ขึ้นรถไฟพร้อมหาที่นั่งตามเลขในตั๋วโดยสาร ช่วงเวลาก่อนรถไฟออกเดินทาง เริ่มมีกลิ่นหอมของไก่ทอด เสียงของแม่ค้าที่ถือถาดเต็มไปด้วยไก่ทอดชิ้นโต ๆ และข้าวเหนียวที่มาพร้อมหอมเจียวและน้ำจิ้ม อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเมืองหาดใหญ่ เห็นแบบนี้พลาดไม่ได้ที่จะสั่งไว้นั่งทานระหว่างทาง

7.20 น. รถไฟพร้อมออกเดินทางจากสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ สู่สถานีปาดังเบซาร์(ไทย) ในเวลา 8.05 น. โดยประมาณ อากาศยังไม่ร้อนเหมาะกับการถ่ายรูปที่บริเวณรอบๆสถานีฯ หลังจากนั้นเดินเท้าไปเรื่อย ๆ เพื่อชมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวมากมาย และเดินไปอีกไม่ไกล (ห่างจากสถานีฯประมาณ 350 เมตร) จะเจอร้านอาหารจีนเก่าแก่ที่เจ้าของร้านมาจากเมืองจีน และได้นำสูตรอาหารรสชาติดีมาต่อยอดในเมืองปาดังเบซาร์

รสชาติที่ซุกซ่อนเรื่องราวในอดีต

“ร้านบะกุ๊ดเต๋ปาดังเบซาร์ 肉骨蒸飯店” เจ้าของร้านคือ คุณเหรียงซวนเซี๊ยะ (Liang Shun Xie) ชื่อไทย พิเชษฐ์ แซ่เซี๊ยะ เป็นคนจีนแต๋จิ๊ว มนฑลซั่วเถ่า ที่ย้ายตัวเองมาจากเมืองจีน ก่อนที่จะลงหลักปักฐานเปิดร้านบะกุ๊ดเต๋แสนอร่อย ตั้งแต่ปี 2529 คุณเหรียงซวนเซี๊ยะ เล่าถึงเหตุผลที่มาลงหลักปักฐานที่ปาดังว่า “เพราะ เมืองปาดังมีการใช้ภาษาจีนสื่อสารกับคนจีนมาเล และเห็นโอกาสการค้าในปาดัง

“เพราะเศรษฐกิจและผู้คนมากมายในช่วงที่ประตูขาวแดงเปิด ให้คนเดินเข้าออกผ่านแดนได้สะดวก เมื่อก่อนคนคึกคักมาก ลูกค้าเดินเข้าๆออกๆไม่ขาดสาย ส่วนมากลูกค้าเป็นคนจีนมาเล ปัจจุบันปาดังมันซบเซาลงไปมาก .. มาอยู่ปาดังเบซาร์ตั้งแต่หนุ่มๆ ตอนนี้อายุก็มากแล้ว รักและผูกพันกับที่นี่มาก ถึงจะบินกลับไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนทุกปี แต่ก็รู้สึกว่าปาดังเบซาร์เป็นบ้านไปแล้ว”

บทสัมภาษณ์ใน Voice of Padang besar

ถึงช่วงการบรรยายรสชาติ หากจะบอกเพียง “อร่อยมาก” ก็คงไม่พอ – เมนูแรกที่นำเสนอก็ต้องบะกุ๊ดเต๋ เป็นเมนูที่น้ำซุปมีกลิ่นหอมเด่นของยาจีนชัดเจน ปรุงหม้อต่อหม้อ รสชาติกลมกล่อม เนื้อและเครื่องในให้เยอะเต็มหม้อ ต้องยกให้เมนูนี้เป็นสุดยอดเมนูของร้าน นอกจากนี้เมนูอื่น ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน


นอกจากร้านบะกุ๊ดเต๋ที่ทีมหรอยมีโอกาสได้ชิมแล้ว ยังมีร้านไก่ทอด ข้าวแกง ขนมหวาน อาหารเหนือ ใต้ อีสาน และร้านในพื้นที่ให้ลิ้มลองมากมาย เรียกได้ว่าครบทุกรสชาติ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้านอาหารของปาดังเบซาร์อย่างชัดเจน

ทีม Voice of Padang besar ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับปาดังเบซาร์ในมุมของศาลเจ้าฮกเต็กแป๊ะกง และมัสยิดมูซาฟีรีน อัลฟาฎอนอย์ อีกว่า “เส้นทางรถไฟและการค้าขายชายแดนไทย-มาเลเซีย นำพาพี่น้องชาวจีนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ชายแดนปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ในยุคแรกเริ่มคนจีนเข้ามาอยู่อาศัย ทำมาค้าขายร่วมกับคนมุสลิมมลายู และคนไทยพุทธ มีชุมชนเล็กที่อาศัย ค้าขายอยู่บนพื้นที่ชายแดนโดยมีลักษณะเป็นเพิงพักขายของกว่า 30 หลังคาเรือน”


“ต่อมาคนจีนในพื้นที่ได้มีความศรัทธาต่อแป๊ะกง ซึ่งมานิมิตให้เห็นบริเวณพื้นที่จอมปลวก ทำให้ชาวจีนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อแป๊ะกง และมีการสร้างศาลเจ้าเล็กๆด้วยไม้จากนั้นก็พัฒนามาเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีผู้คนแวะเวียนมาขอพร กราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย”


“ศาลเจ้า ฮกเต็กแป๊ะกง ปาดังเบซาร์ ที่มีอายุกว่า 60 ปี เป็นศูนย์รวมคนจีนในปาดังเบซาร์และคนจีนในฝั่งมาเลเซีย เป็นประจำเกือบทุกปีจะมีการจัดงานครบรอบวันเกิดแป๊ะกง มีการแสดงงิ้ว และฉายภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิศาลเจ้าฮกเต็กแป๊ะกง การดำรงอยู่อย่างรุ่งเรืองของศาลเจ้าฮกเต็กแป๊ะกง ปาดังเบซาร์ สะท้อนความสัมพันธ์เหนียวแน่นเข้มข้นของชุมชนคนจีนในพื้นที่ปาดังเบซาร์ที่ดำรงอยู่และร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองปาดังเบซาร์จากยุคร้อยปีจนถึงปัจจุบัน”

มัสยิดมูซาฟีรีน อัลฟาฏอนอย์ กับการโยกย้ายถิ่นพี่น้องชาวมุสลิม

เข้ามาปักหลัก ทำการค้าขายในปาดังเบซาร์

ชื่อ “มูซาฟีรีน” มาจากคำว่า “มุซาเฟร” ในภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่า “ผู้เดินทาง อพยพ“ส่วนคำว่า ฟาฏอนอ มาจากคำว่า ฟาฏอนีย์ ในภาษาอาหรับ ซึ่งแปลว่า “ปราชญ์ เฉลียวฉลาด” คำว่า ฟาฏอนี อีกนัยนึงก็เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ถิ่นฐานอาศัยเดิมที่มาจาก ปาตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา”

“อาจเป็นเพราะคนกลุ่มที่สองที่โยกย้ายเข้ามาในพื้นที่ปาดังเบซาร์ภายหลังจากคนจีนที่เข้ามาบุกเบิกตามเส้นทางการค้าชายแดน และ ทางรถไฟ ซึ่งถือเป็นผู้นำที่ดูแลรับผิดชอบชุมชนมุสลิมในเขตพื้นที่ตั้งของมัสยิดนั้น ล้วนเป็นผู้ที่เดินทางมาจากถิ่นอาศัยอื่น “มูซาฟีรีน” ซึ่งเป็นชื่อของมัสยิดแห่งแรกในพื้นที่ปาดังเบซาร์ สะท้อนถึงบริบทของผู้คนในชุมชนมุสลิมในห้วงเวลาจนถึงทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี”

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ทิ้งร่องรอยทางวัฒนธรรมเอาไว้ สถานที่ที่มีแต่ผู้คนน่ารักและใจดี อาหารอร่อย มีมุมให้ถ่ายภาพมากมาย เป็นเมืองที่เดินทางง่าย สะดวก ทีมหรอยแนะนำอีกนิด หากไปวันอาทิตย์ อาจพลาดชิมของอร่อย เพราะวันอาทิตย์ที่นี่ ถือเป็นวันครอบครัว ร้านค้าอาจจะปิดเยอะหน่อย

ไปสัมผัสความอร่อย ความศรัทธา และความน่ารักกันได้ที่ ปาดังเบซาร์ ชายแดนมาเลเซีย–ไทย อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

เรื่องและภาพ: ภานิชา ปณัยเวธน์

อ่านต่อ

เพจ Voice of Padang besar พื้นที่ส่งเสียงคนปาดังฯ วาดอนาคตเมืองชายแดน

เสริมพลัง “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่าวปัตตานี” ด้วยงานวิจัย มุ่งสร้างความยั่งยืนทุกมิติ

แนวคิด 2 เชฟสงขลา นำวัตถุดิบภาคใต้สร้างสรรค์เมนูอาหาร เชื่อมเกษตรกรท้องถิ่น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *