การมี 5 วิทยาเขตคือจุดแข็ง ม.อ. ที่ทำให้มีโจทย์แก้ปัญหาชุมชนได้หลากหลายในโลกศตวรรษที่ 21


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมรับรูปแบบใหม่ของการเรียนการสอน ที่เน้นการผสมผสานหลายวิธีการเพื่อเสริมทักษะการทำงานในศตวรรษใหม่ และเพิ่มโอกาสการใกล้ชิดชุมชนเพื่อหาโจทย์แก้ปัญหา การเกิดวิกฤติ COVID-19 ช่วยเร่งโอกาสของ PSU Education Transformation หลังเตรียมพร้อมมานานหลายปี

รศ.ดร.จุฑามาส ศตสุข
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาส ศตสุข รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่าวิกฤติ COVID-19 ทำให้สถาบันการศึกษาได้มีโอกาสใช้รูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่เปลี่ยนจากเดิม ซึ่งถ้าหากผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ อาจารย์และนักศึกษามีความคุ้นชินกับการเรียนการสอนรูปแบบใหม่และยังคงคุณภาพการศึกษาเอาไว้ ก็จะเกิด new normal ด้านการเรียนการสอน และการดำเนินชีวิตประจำวันที่เป็นการเรียนการสอนในรูปแบบ Hybrid Learning ซึ่งรวมเอาการเรียนรู้แบบออนไลน์ และการเรียนในห้องเรียนเข้าไว้ด้วยกัน โดยเน้นการผสมผสานวิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ผ่านเทคโนโลยีที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เชิงรุก และได้ใช้กระบวนการคิด รวมทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้

การปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา มาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ซึ่งกระทบต่อชีวิตประจำวัน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษามากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และสนองความต้องการกำลังคนในศตวรรษใหม่ที่ตลาดแรงงานต้องการคนที่มีทักษะพร้อมที่จะทำงานได้ทันที ดังนั้นในการจัดการศึกษาเราต้องสร้างทักษะให้นักศึกษา คิดงานใหม่ได้ พร้อมที่จะทำงานทันที พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการเอง และพร้อมจะก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

“วิกฤติ COVID-19 คือโอกาส ทำให้เรามีโอกาสใช้รูปแบบการศึกษาที่ไม่เหมือนเดิม ผิดไปจากชีวิตประจำวันที่เคยเป็น ซึ่งเดิมเราจัดการศึกษาที่มีภาคบรรยาย ภาคปฏิบัติ มีการสอบ ซึ่งเหมาะสมกับยุคสมัยที่ผ่านมา แต่ไม่มีการเสริมทักษะในหลายด้านในศตวรรษใหม่ให้กับผู้เรียน มาเป็นการออกแบบหลักสูตรและสร้างผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม นำความต้องการของสังคมมาออกแบบสาขาวิชา การจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะเข้ารูปแบบของ Education Transformation ที่เราพูดถึงกัน”

รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการกล่าว

ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คิดปรับเปลี่ยนการศึกษาอย่างเป็นระบบและจริงจังมาก่อนหน้านี้หลายปี เพื่อเตรียมให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีและทักษะของศตวรรษที่ 21 โดยระดมความคิดของกรรมการวิชาการของทุกวิทยาเขตร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเตรียมแนวทางการรูปแบบจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ หรือ PSU Education Transformation โดยได้กำหนดนโยบายว่าทุกรายวิชาต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบ active learning ในรายวิชาภาคทฤษฎีจะต้องมีการบรรยายไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นการจัดกิจกรรม หรือการจัดการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบใหม่ การมอบหมายงาน การแก้ปัญหาจากโจทย์ตัวอย่างต่างๆ

จุดแข็งของมหาวิทยาลัยคือการมี 5 วิทยาเขต ทำให้มีชุมชนให้ดูแลหลากหลาย มีโจทย์ที่ต่างกันไปตามเอกลักษณ์และความโดดเด่นของแต่ละวิทยาเขต เราจะให้นักศึกษาได้สัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ แล้วนำมาคิดวิเคราะห์ว่าจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร ในกรอบใหญ่คือ เราใช้ project base และ problem base มาเป็นตัวจัดการเรียนการสอน แต่รายละเอียดจะให้แต่ละวิทยาเขตเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสม ในศตวรรษที่ 21 สิ่งที่พูดกันมากคือ outcome base education ซึ่งจะมีการออกแบบหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ต้องการสร้างนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของเราให้หน้าตาเป็นอย่างไรมีทักษะอย่างไร จะใช้ความต้องการของภาคสังคมเป็นตัวกำหนด แล้วเรานำความต้องการมาออกแบบสาขาวิชา การจัดการเรียนการสอน ซึ่งผลผลิตหรือบัณฑิตในแต่ละสาขาจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน อาจารย์ต้องเข้าใจรูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่นที่ไม่ใช่แค่ยืนบรรยายในห้องเรียน ต้องเข้าใจทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแต่ละทักษะสามารถสร้างได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย รู้จักการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกันได้อย่างไร